นโยบายการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ของกระทรวงศึกษาธิการ
นโยบายการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ของกระทรวงศึกษาธิการ
นโยบายการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ของกระทรวงศึกษาธิการ
วันที่ 23 กันยายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมทางไกล (Video Conference) มอบนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย แก่ศึกษาธิการจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาทั่วประเทศ จากห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กทุกคนมีพัฒนาการที่ดีเหมาะสมกับวัย ทั้งทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา มีทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล สร้างให้เด็กมีคุณลักษณะมีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ ตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562
เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้สถานศึกษาและครู มีแนวปฏิบัติพื้นฐานนำไปใช้วางแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมและสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษาการพัฒนาคุณภาพเด็กในช่วงปฐมวัย
โดยให้ยึดหลักการสำคัญ คือ การพัฒนาเด็กแบบองค์รวม (Holistic Development) ให้เด็กมีพัฒนา 4 ด้าน ประกอบด้วย ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา อย่างสมวัย รวมทั้งพัฒนาด้านตัวตน (Self Development) พัฒนาทักษะสมอง (Executive Function: EF) ให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่า มีความเชื่อมั่น และภูมิใจในตนเอง และเป็นเด็กที่คิดเป็น มีเหตุมีผล และรู้จักกำกับตนเอง
ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ สำหรับสถานศึกษาและครู
สถานศึกษา
ได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้ 6 เรื่องหลัก ได้แก่
- เน้นเด็กเป็นสำคัญ โดยเปิดโอกาสให้เด็กฝึกใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การวางแผนลงมือทำ นำเสนอ และสะท้อนความคิดเห็น ฯลฯ โดยครูเป็นผู้สนับสนุนและร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงบริบทของตัวเด็กและสังคมที่เด็กอาศัย
- จัดประสบการณ์ หรือกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ ยืดหยุ่น สอดคล้องกับพัฒนาการหรือปรับเปลี่ยนตามความสนใจ สถานการณ์ บริบทหรือวิถีชีวิตจริงของเด็ก
- จัดหาหรือพัฒนาสื่อ วัสดุ และอุปกรณ์ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ ให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลาย ทั้งการเล่นอิสระ การเล่นร่วมกัน และการเล่นที่มีข้อตกลง
- จัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ เชิงบวก อบอุ่น ปลอดภัย เป็นมิตร มีอิสระและท้าทาย ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเด็กกับเด็กและเด็กกับครู
- ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง รู้เท่าทันความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ การวิจัยและพัฒนาสื่อ รูปแบบ วิธีการหรือนวัตกรรมสำหรับการจัดการศึกษาปฐมวัย
- ประสานความร่วมมือและสร้างความรู้ความเข้าใจ ร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับพ่อแม่ ครอบครัว และชุมชน ในการดูแล พัฒนาและจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย
ครู
เนื่องจากการปรับรูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยครั้งนี้ ครูมีบทบาทสำคัญและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) จากครูผู้สอนปรับมาเป็นผู้ชี้แนะ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ผู้สังเกต ร่วมเรียนรู้ไปกับเด็ก และเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาและเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ
ดังนั้น แนวปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับครู ต้องเกิด “5 สิ่งที่มีอยู่จริง” ดังนี้
- ครูมีอยู่จริง “ครูคุณภาพ ครูเพื่อศิษย์” มีจิตวิญญาณความเป็นครู ต้องเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ มุ่งมั่น กล้าทำเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นที่พึ่งทางใจ มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก
- เด็กมีอยู่จริง “เด็กได้คิด วางแผน ทำ แก้ปัญหา ด้วยตนเอง และเป็นที่ยอมรับ” พ่อแม่และครูต้องส่งเสริมสร้างความมีตัวตนให้กับเด็กเคารพในความรู้สึกนึกคิดของเด็ก กระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้และตั้งเป้าหมายเอง ให้เด็กมีโอกาสตัดสินใจและเรียนรู้ผลจากการตัดสินใจ มีความภาคภูมิใจในตนเอง และส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน
- หลักสูตรมีอยู่จริง “ให้โอกาสการเรียนรู้และความสำเร็จแก่เด็ก” หลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยต้องสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ช่วยให้เด็กมีความพร้อมพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้และมีทักษะชีวิต
- ครอบครัวมีอยู่จริง “ครอบครัวอบอุ่น ปลอดภัย มีส่วนร่วมพัฒนาเด็ก” เด็กปฐมวัยจะได้รับการพัฒนาจากครอบครัวเป็นลำดับแรก ดังนั้น การพัฒนาเด็กปฐมวัยครอบครัว และสถานศึกษาต้องร่วมมือใกล้ชิด สื่อสารเชิงบวกสร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาทักษะ แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์และให้กำลังใจกันและกัน
- เพื่อนร่วมงานมีอยู่จริง “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาร่วมพัฒนา ร่วมรับผิดชอบ” สร้างความร่วมมือทั้งภายในและนอกสถานศึกษาพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ ให้มีคุณภาพ ครูจะต้องทำงานร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยการพัฒนาจะเน้นที่เด็กเป็นสำคัญ
ขอบคุณที่มา https://moe360.blog/2020/09/23/early-childhood/?fbclid=IwAR166IAx_ADyVli6BFaV0lQWiMCyx77rdfyErixVX_kdZHL7eiDS9aOCvxc