เรื่องแนะนำ

การออกแบบแผนการสอนด้วยวิธี Backward Design

การออกแบบแผนการสอนด้วยวิธี Backward Design

แผนการสอนนับคือเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน เปรียบเสมือนเป็นแผนที่ที่ช่วยให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปตามจุดประสงต์การเรียนรู้อย่างครบถ้วนและไม่หลงประเด็น

ทั้งนี้ในการออกแบบแผนการสอนของครูผู้สอนนั้น โดยปกติจะมีรูปแบบที่เป็นหลักสูตรแกนกลางกำกับไว้อยู่แล้ว แต่ในการเขียนแผนการสอนให้มีเนื้อหากิจกรรมหลากหลาย มีความสอดคล้องกัน มีความคลอบคลุมและสามารถวัดประเมินผลได้ตรงจุดนั้น เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะสร้างสรรค์แผนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและตัวผู้เรียน ซึ่งวิธีเขียนแบบแผนการสอนนั้นมีด้วยอยู่หลายวิธี และหนึ่งในหลายวิธีที่จะแนะนำในวันนี้คือ การเขียนแผนการสอนโดยใช้วิธี Backward Design

Backward Design หรือ การออกแบบการเรียนรู้แบบย้อนกลับนี้ เป็นกระบวนการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เริ่มจากการกําหนดผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้ก่อน (Standard Based Curriculum) แล้วจึงค่อยมาออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในภายหลัง ได้ถูกเผยแพร่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 โดย Grant Wiggins และ Jay McTighe โดยมีขั้นตอนสำคัญ ๆ 3 ขั้นตอน อันได้แก่

ขั้นที่ 1 กําหนดเป้าหมายการเรียนรู้ (Indentity desired goals)

โดยการวิเคราะห์มาตรฐานสาระการเรียนรู้ของรายวิชาที่นํามาออกแบบ และต้องทําความเข้าใจกับมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละหัวข้อรวมทั้งจุดมุ่งหมายที่สําคัญของรายวิชานั้น ๆ ว่าต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ เกิดความเข้าใจและเกิดทักษะหรือเจตคติในเรื่องใดบ้าง

โดยสามารถตั้งคําถามสําคัญเพื่อใช้กําหนดเป็นกรอบความคิดหลักได้ดังนี้

1. ผู้เรียนควรรู้อะไรและมีความเข้าใจในสาระการเรียนรู้เรื่องใดบ้าง

2. ผู้เรียนควรแสดงความสามารถในเรื่องใดบ้าง ที่จะทําให้เป็นพฤติกรรมติดตัวหรือเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์

3. สาระสําคัญใดที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และนําไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวันได้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพทั้งการเรียนและการทํางานในอนาคต

4. ผู้เรียนควรมีความรู้และความเข้าใจที่ยั่งยืนเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้างที่สามารถนําไปบูรณาการเชื่อโยงกับประสบการณ์ในชีวิตประจําวันได้อย่างมีศักยภาพ

ขั้นที่ 2 กําหนดหลักฐานที่เป็นผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามเป้าหมายการเรียนรู้ที่กําหนด(Determine Acceptable Evidence)

คือการระบุเครื่องมือและหลักฐานที่ใช้วัดประเมินผลและวิธีการวัดประเมินผล โดยเน้นการวัดจากพฤติกรรมการเรียนรู้รวบยอด มากำหนดเป็นหลักฐานที่แสดงถึงผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น แบบทดสอบย่อย แบบสังเกตพฤติกรรม บันทึกประจำวัน รวมถึงผลงานของนักเรียนต่างๆ เป็นต้น

ข้อสําคัญและควรระมัดระวังคือ การกําหนดหลักฐานของการเรียนรู้ที่เกิดกับผู้เรียนนั้น ต้องเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เรียนสามารถบรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่ได้กําหนดไว้ ด้วยวิธีการประเมินอย่างหลากหลาย และมีความต่อเนื่องจนจบสิ้นกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้น โดยจะต้อง มีความเที่ยงตรง เอื้อต่อสภาพการเรียนรู้จริงของผู้เรียน

ขั้นที่ 3 วางแผนการจัดกิจกรรมและเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้วางแผนการจัดกิจกรรมและเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ (Plan learning experiences and instruction)

เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายการเรียนรู้และหลักฐานที่เป็นรูปธรรมแล้ว ผู้สอนสามารถเริ่มวางแผนการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้และมีหลักฐานการเรียนรู้ที่ชัดเจน ซึ่งครูผู้สอนควรจะต้องวางแผนกิจกรรมการเรียนการสอนตามประเด็นดังต่อไปนี้

1. ผู้เรียนจําเป็นที่จะต้องมีความรู้และทักษะพื้นฐานอะไรบ้างจึงจะช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจหรือสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายที่กําหนดไว้ได้

2. ผู้สอนจําเป็นต้องจัดกิจกรรมการสอนอะไรบ้างจึงจะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวไปสู่ความสําเร็จได้

3. ผู้สอนควรใช้สื่อการสอนอะไรบ้างที่จะช่วยกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้นและมีความเหมาะสมกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนข้างต้น

4. การกําหนดขอบข่ายสาระการเรียนรู้รูปแบบกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้มีความสอดคล้องกันหรือไม่

สำหรับวิธีการประยุกต์ใช้ในแต่ละโรงเรียนอาจจะมีแนวทางที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ตามหลักพื้นฐานแล้วสามารถดำเนินการได้ดังนี้

1. ครูเริ่มต้นด้วยการทบทวนมาตรฐานการเรียนรู้ที่นักเรียนคาดหวังว่าจะได้พบเมื่อจบหลักสูตรหรือระดับชั้น

2. ครูสร้างดัชนีหรือรายการความรู้ทักษะและแนวคิดสำคัญที่นักเรียนต้องเรียนรู้ระหว่างหน่วยการเรียนรู้เฉพาะ

3. ครูออกแบบการทดสอบขั้นสุดท้ายการประเมินหรือการสาธิตการเรียนรู้ที่นักเรียนจะสมบูรณ์เพื่อแสดงว่าพวกเขาเรียนรู้สิ่งที่คาดหวังว่าจะเรียนรู้

4. ครูสร้างชุดของบทเรียนโครงงานและการสนับสนุนกลวิธีการสอนที่มุ่งเน้นการย้ายความเข้าใจของนักเรียนและการพัฒนาทักษะให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ต้องการของหน่วยการเรียนรู้

5. ครูกำหนดกลยุทธ์การประเมินรายภาคเรียนที่จะใช้ในการตรวจสอบความเข้าใจและความก้าวหน้าในช่วงระยะเวลาของหน่วยการเรียนรู้

6. ครูอาจทบทวนหน่วยที่คาดหวังเพื่อพิจารณาว่าการออกแบบมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ที่ต้องการหรือไม่

วิธีการ Backward Design นับเป็นวิธีที่กำหนดให้ครูคิดเหมือนนักประเมินผล โดยครูจะเริ่มการวางแผนการเรียนรู้ด้วยการคิดถึงหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ก่อน ถึงจะมาออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือ สามารถออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้โดยมีความชัดเจนในเป้าหมายการเรียนรู้ สามารถเชื่อมโยงระหว่างผลลัพธ์กับการปฏิบัติได้ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้ดีขึ้น

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

แหล่งข้อมูล :: https://www.trueplookpanya.com/education/content/79306-teamet–
BACKWARD DESIGN
ออกแบบการเรียนการสอน Backward Design

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button