บทความ

โลกของนิทาน และแนวการเลือกนิทานที่ดี

โลกของนิทาน และแนวการเลือกนิทานที่ดี

นิทานนั้น ตามความหมายแล้ว คือ เรื่องราวที่แต่งขึ้น อาจจะมีมูลความจริงในอดีตหรือไม่ก็ได้ เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาและอาจแต่งเติมให้เกิดความน่าสนใจ คาดว่าเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุด โดยเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ ซึ่งจุดมุ่งหมายของนิทานนั้น ก็เพื่อส่งมอบความสนุกสนานเพลิดเพลินให้ผู้อ่านหรือผู้ฟัง และในขณะเดียวกันก็สอดแทรกแนวคิดคุณธรรมต่าง ๆ เอาไว้ในเรื่องราวเหล่านั้น เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ฟังได้ฉุกคิดอีกด้วย

          สำหรับชุดนิทานที่ขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมในระดับโลก ได้แก่ นิทานอีสป ซึ่งแต่งโดย อีสป ทาสนักเล่านิทานสมัยกรีกโบราณ ซึ่งจุดเด่นของนิทานอีสปนั้น คือ การใช้สัตว์หรือสิ่งของไม่มีชีวิตมาเป็นตัวละครที่พูดคุยสื่อสารกันได้เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ โดยมีเรื่องราวกล่าวถึงการเติบเป็นผู้ใหญ่ คุณธรรมจริยธรรม ศาสนา สังคม และการเมืองในซึ่งได้รับอิทธิพลจากสังคมในสมัยนั้น โดยในประเทศไทย เราจะคุ้นเคยกับนิทานอีสปที่จบด้วยประโยคที่ว่า “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า” ซึ่งจะเป็นการสรุปคติหรือแนวคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนั้นนั่นเอง โดยนิทานอีสปที่ได้รับความนิยมมากจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรื่องกระต่ายกับเต่า  ราชสีห์กับหนู และ มดกับตั๊กแตน เป็นต้น 

ชุดนิทานที่ได้รับความนิยมอีกชุดหนึ่งคือ เทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์ ซึ่งเป็นนิทานที่รวบรวมขึ้นจากเรื่องเล่าพื้นบ้านและตำนวนปรัมปราของยุโรป โดยพี่น้อง “เจค็อบ” และ “วิลเฮล์ม” ซึ่งเป็นต้นแบบของนิทานเลื่องชื่อในปัจจุบัน เช่น สโนว์ไวท์ ซินเดอเรลล่า เจ้าหญิงนิทรา และหนูน้อยหมวกแดง เป็นต้น

แม้ว่าเทพนิยายของพี่น้องตระกูลกริมม์นั้น ตามต้นฉบับจะไม่ใช่นิทานที่น่าอภิรมย์และเหมาะสมกับเด็กเท่าไหร่นัก แต่ต่อมาก็มีการรังสรรค์และดัดแปลงให้กลายเป็นเรื่องราวที่สวยงามและเหมาะสมกับเด็กมากขึ้น ซึ่งเราจะคุ้นเคยกับการที่ค่ายการ์ตูนเอนิเมชันอย่างวอลล์ ดิสนีย์ ได้นำนิทานบางเรื่องไปทำเป็นการ์ตูนอนิเมชั่น จนได้รับความนิยมไปทั่วโลก 

          นิทานมีความเกี่ยวเนื่องกับเด็กอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ทั้งจากการอ่านหรือฟังนิทาน หรือแม้แต่ความรู้หรือคติสอนใจต่าง ๆ ที่สอดแทรกในเรื่องราวนิทานนั้น ๆ ซึ่งการที่เด็กอ่านนิทานหรือฟังนิทานจากการเล่าเรื่องโดยผู้ปกครองหรือครูผู้สอนนั้น นอกจากเด็กจะได้เรียนรู้เรื่องของการใช้ภาษาอย่างถูกต้องผ่านตัวหนังสือหรือการเล่าเรื่องแล้ว ยังได้รับความรู้และแนวคิดต่าง ๆ จากเนื้อหานิทานนั้น ๆ รวมยังส่งเสริมให้เด็กมีความคิดและจินตนาการได้อีกด้วย  นิทานจึงถึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กและวัยเริ่มต้น

ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้ออกหนังสือนิทานในเรื่องราวที่หลากหลายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ดัดแปลงจากเรื่องราวที่มีอยู่เดิม หรือเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าตลาดของนิทานสำหรับเด็กนั้นยังคงมีความสำคัญและได้รับสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และเป็นธรรมดาที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ จะออกหนังสือนิทาน โดยมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมบางสิ่งบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมพัฒนาเด็กในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งหลายสำนักพิมพ์ก็ได้มีการศึกษาและวิจัยจนออกมาเป็นหนังสือเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ แต่ก็มีไม่น้อยที่มีจุดประสงค์ในเรื่องอื่น

จากนิทานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่านิทานนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเล่าธรรมดาทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสอดแทรกเรื่องราวในสังคมตามยุคสมัยลงไปด้วย เพียงแต่ไม่ได้แสดงอย่างโจ่งแจ้งจนกลายเป็นหลักฐานอิงประวัติศาสตร์ แต่ใช้ประโยชน์จากนิทานเพื่อเล่าขานถึงแนวคิดให้กับคนอื่น ๆ ซึ่งนับเป็นการถ่ายทอดที่สร้างสรรค์และแยบยล มากกว่าที่จะไปบอกเล่าโดยตรง ซึ่งถ้ามองเช่นนี้ การรังสรรค์นิทานออกมาในรูปแบบใดนั้น ก็ล้วนเป็นสิทธิที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ จะดำเนินการได้ ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมายหรือขัดกับหลักศีลธรรมอันดีที่เป็นสากล ซึ่งการขัดขวางโดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างถ่องแท้นั้น ย่มเป็นเรื่องที่ไม่สมควร โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่มีเสรีภาพและความหลากหลายทางความคิด

แต่อย่างไรก็ดี การรังสรรค์นิทานเรื่องใดในลักษณะใดแม้ว่าเป็นสิทธิของผู้แต่ง แต่ผู้แต่งรวมถึงสำนักพิมพ์ที่ผลิตก็ควรพึงระลึกไว้เสมอถึงสิ่งที่จะให้กับผู้อ่านหรือผู้ฟัง ซึ่งสวนใหญ่เป็นเด็กว่าพวกเขาเหล่านั้นควรได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวเหล่านี้ และมันเหมาะสมหรือไม่กับวัยของพวกเขา เพื่อให้นิทานนั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวพวกเขามากกว่าที่จะส่งผลกระทบที่ไม่ดี

          สุดท้าย แม้ว่านิทานเรื่องนั้นจะเหมาะสมหรือไม่ ผู้ที่ต้องเลือกก็คือตัวผู้บริโภคเอง ซึ่งก็คือเด็กและผู้ปกครองที่จะเลือกหรือไม่เลือกใช้หนังสือนิทานในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งแนวทางที่เหมาะสมในการเลือกนิทานให้เด็ก ตามความคิดของผู้เขียนนั้น จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

วัยและอายุ

การเลือกนิทานให้เด็กนั้น ควรดูให้เหมาะสมกับวัย ในวัยแรกเริ่ม อาจเป็นนิทานภาพ และเมื่อโตขึ้นก็มีการใช้คำและประโยคมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันหนังสือนิทานส่วนใหญ่ จะมีการกำหนดอายุไว้ ซึ่งช่วยให้ผู้ปกครองเลือกหานิทานสำหรับเด็กได้เหมาะสมกับวัยของพวกเขา

เนื้อหาในนิทาน

การเลือกนิทาน สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเนื้อหาของนิทานเรื่องนั้น ๆ ซึ่งผู้ปกครองจะต้องลองอ่านดูก่อนว่ามีความเหมาะสมกับเด็กวัยนั้น ๆ หรือไม่ ซึ่งบางสำนักพิมพ์นั้นจะมีการระบุไว้ว่านิทานเรื่องนี้ช่วยพัฒนาเด็กในเรื่องอะไร ทำให้ผู้ปกครองสามารถเลือกหานิทานได้ตามความเหมาะสมของเด็กได้มากขึ้น

ภาษาที่ใช้

เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องกรองนิทาน โดยเลือกเฉพาะนิทานที่ใช้ภาษาสละสลวยและเหมาะสมกับเด็ก แต่ละวัย โดยเฉพาะนิทานที่เป็นสองภาษา ซึ่งควรมีการตรวจสอบภาพความถูกต้องทางภาษาให้เรียบร้อย มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะเลือกซื้อนิทานจากสำนักพิมพ์ที่มีความน่าเชื่อถือ

ตัวเล่ม

สำหรับตัวหนังสือนิทาน ควรออกแบบให้มีความสวยงาม ซี่งจะดึดดูดความสนใจของเด็กได้ดี นอกจากนี้ ยังควรใช้สีที่ปลอดภัย และลบคมเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับเด็กด้วย

ให้เด็กมีส่วนร่วม

สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กสนใจอ่านหรือฟังนิทานในเรื่องนั้น ๆ คือ การที่เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกนิทานเล่มโปรดของพวกเขาเอง มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เขาเลือกนิทานด้วยตัวเอง โดยผู้ปกครองคอยแนะนำและนำเสนออย่างเหมาะสม

          อย่าลืมว่า นิทานนั้นจะมีประโยชน์เมื่อเด็กได้อ่าน หรือ ผู้ปกครองอ่านให้เขาฟัง ทำความเข้าใจร่วมกับเขา คอยแนะนำและให้คำอธิบายที่ดี เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัว ซึ่งถ้าทำได้แบบนี้ ต่อให้มีสิ่งชวนเชื่อใด ๆมากน้อยแค่ไหน มันก็ไม่มีผลอะไรต่อตัวเด็ก เพราะถึงอย่างไร สานสัมพันธ์ที่มี ก็มีคุณค่าและอิทธิพลมากกว่าสิ่งเหล่านั้นอยู่ดี

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

แหล่งข้อมูล
อีสป พี่น้องตระกูลกริมม์. สืบค้นเมื่อ 13 ธันวาคม 2564

ที่มา :: https://www.trueplookpanya.com/education/content/90867-teamet–

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button