5 ลักษณะของครูวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ
5 ลักษณะของครูวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ
ในบรรดาหลากหลายวิชาที่นักเรียนจะต้องเรียนในหนึ่งปีการศึกษานั้น วิชาวิทยาศาสตร์ถือเป็นวิชาที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ เพราะด้วยการพัฒนาของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับวิทยาการต่าง ๆ และความเข้าใจในเชิงวิทยาศาสตร์ ทำให้การศึกษายุคปัจจุบันนี้ ควรจะต้องสร้างให้นักเรียนนั้นมีกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเรียนรู้ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างเหมาะสม
การสอนวิชาวิทยาศาสตร์ แม้ว่าจะเป็นรูปแบบการเรียนรู้คล้ายกับวิชาทั่วไป แต่ก็มีความแตกต่างจากวิชาอื่น ๆ พอสมควร เพราะในการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์นั้น เราจะใช้แต่เพียงการเรียนรู้ตามตำราเรียนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีการส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้และทำความเข้าใจปรากฎการณ์ต่าง ๆ จากสิ่งรอบตัวตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อให้นักเรียนรู้จักตั้งคำถามและตั้งสมมุติฐาน ตลอดจนทดลองหาคำตอบ จนนำไปสู่การสรุปผลที่ชัดเจน ทำให้วิชาวิทยาศาสตร์นั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครูผู้สอนที่มีความเข้าใจในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
ด้วยเหตุนี้เอง ครูผู้สอนที่มีประสิทธิภาพนั้น จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยส่งเสริมนักเรียนในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่ง มีนัคชี ชาร์มา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมอร์เซอร์ ได้นำเสนอ 5 ลักษณะของครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพไว้ลงในเว็บไซต์ของ The conversation ซึ่ง ทั้ง 5 ลักษณะที่กล่าวมานั้น ประกอบด้วย
หล่อเลี้ยงความอยากรู้ของนักเรียน
นักเรียนนั้น ด้วยความที่เป็นเด็กและเยาวชน ทำให้พวกเขามีความอยากรู้อยากเห็นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ จะต้องรู้จักใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเป็นพื้นฐานของการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความสนใจและมีบทบาทสำคัญการค้นหาว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริง มากกว่าที่จะเป็นการกล่าวอ้างจากบทเรียนโดยครูผู้สอน
ส่งเสริมการคิดเชิงวิทยาศาสตร์
ครูวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพนั้น จะพยายามให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ทางธรรมชาติและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่เป็นรากฐาน พวกเขาให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการตั้งข้อสงสัย ค้นหาและเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์รอบตัว ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีการพัฒนาคำถามเชิงสำรวจและสมมติฐานเพื่ออธิบายเหตุการณ์ดังกล่าว และกระตุ้นให้พวกเขาทดสอบ รวมถึงปรับแต่งคำอธิบายตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเหมาะสม
พัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ครูผู้สอนต้องมีการวางแผนบทเรียนตามมาตรฐานปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยส่งเสริมให้นักเรียนนั้นสามารถที่จะ ระบุ ประเมิน และเข้าใจข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นสาเหตุของปัญหาทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลกได้ โดยครูผู้สอนสามารถใช้ประเด็นทางสังคมต่าง ๆ มาใช้เป็นสื่อในการอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมองปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเข้าใจปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นมากขึ้น
บูรณาการวิทยาศาสตร์กับวิชาอื่น ๆ
การสอนวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรมีการส่งเสริมด้วยวิธีการแบบสหวิทยาการกล่าวคือ มีการใช้คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ภาษาศาสตร์ และการศึกษาทางสังคม มาร่วมในการศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนนั้น ก้าวไปสู่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นได้
ใช้การประเมินในชั้นเรียนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน
ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ที่สนใจแนวคิดของนักเรียนจะออกแบบและใช้การประเมินในห้องเรียนที่เผยให้เห็นถึงกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน พวกเขาจะไม่ใช้การประเมินแบบปลายปิดที่ต้องการคำตอบเพียงแค่ใช่หรือไม่ใช่ หรือต้องการเพียงแต่คำอธิบายง่าย ๆ ตามที่ปรากฎในแบบเรียน แต่พวกเขาใช้การประเมินแบบปลายเปิดและอ้างอิงปรากฏการณ์ โดยให้โอกาสนักเรียนแสดงความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์
จะเห็นได้ว่า ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี และสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นสู่นักเรียน ตลอดจนส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการหาคำตอบจากข้อสงสัยในปรากฎการณ์ต่าง ๆ ได้ และในขณะเดียวกันต้องรู้จักที่จะบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ รวมกับวิชาอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่โรงเรียนจะต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางที่ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์นั้นมีทักษะความรู้ใหม่ ๆ และได้พัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างมากกับการเรียนรู้ของนักเรียน
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร
ขอบคุณที่มา ::: https://www.trueplookpanya.com/