ข่าวการศึกษาอบรมออนไลน์ฟรี

ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 3/2563 เห็นชอบหลักเกณฑ์สอบครูผู้ช่วย

ผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 3/2563 เห็นชอบหลักเกณฑ์สอบครูผู้ช่วย

(8 เมษายน 2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันพุธที่ 8 เมษายน 2563 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย

เพื่อเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งเดิม (ว 5/2561) ได้กำหนดวิธีการสอบแข่งขันแบ่งไว้ 3 ภาค ภาค ก และ ภาค ข ซึ่งเป็นการสอบข้อเขียน และภาค ค เป็นการสอบสัมภาษณ์

ซึ่งวิธีการนี้ข้อจำกัด คือ สถานศึกษาไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่สถานศึกษา ไม่มีการวัดทักษะในการสอน รวมถึงไม่ได้มีการวัดทักษะด้านภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และทักษะด้านดิจิทัล

ที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถานศึกษาได้ครูที่มีความรู้ความสามารถและทักษะที่เหมาะสมที่จะไปทำการสอนในบริบทของสถานศึกษาและชุมชน จึงได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยวางระบบเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่เห็นชอบให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลต่าง ๆ ใช้ข้อสอบภาค ก ของ ก.พ. ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับข้าราชการทุกประเภท

จึงได้ปรับวิธีการสอบ ภาค ก มาใช้แนวทางเดียวกับการสอบของ ก.พ. การสอบภาค ข ใช้แนวทางตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา ทั้งนี้ให้มีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการประเมินภาค ก และภาค ข เป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยเรียงตามลำดับผู้ที่ได้คะแนนจากมากไปหาน้อย ส่วนการประเมิน ภาค ค ให้ประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ การสอบปฏิบัติการสอน และพิจารณาจากแฟ้มผลงาน

ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการคัดเลือกครู เพื่อให้ได้ครูที่มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนตามบริบทของสถานศึกษาและชุมชน สอดคล้องกับงานวิจัยและแนวปฏิบัติในการคัดเลือกครูที่เป็นสากล 

เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้ในปัจจุบัน กำหนดให้มีการสอบ 3 ภาค คือ ภาค ก ความสามารถด้านการบริหาร ภาค ข การประเมินความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ (ประเมินศักยภาพแบบ 360 องศา) และภาค ค ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง และหลักเกณฑ์เดิมไม่ได้กำหนดกรณีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือกไว้ เมื่อมีตำแหน่งว่างภายหลังจากการบรรจุและแต่งตั้งแล้วจะต้องดำเนินการคัดเลือกใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลานาน และส่งผลต่อการบริหารงานในเขตพื้นที่การศึกษา

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดปัญหาต่าง ๆ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกใหม่ โดยให้มีการประเมินความรู้และทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วยทักษะดิจิทัล ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ โดยกำหนดให้มีการขึ้นบัญชีไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยยกเลิกการประเมินแบบ 360 องศา และได้กำหนดหลักสูตรการคัดเลือกฯ ใหม่ แบ่งเป็น 3 ภาค ได้แก่

ภาค ก ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ การวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
ภาค ข ความสามารถทางการบริหาร (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)

สำหรับวิธีการคัดเลือก ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ดำเนินการได้เอง เพื่อเป็นการกระจายอำนาจในเรื่องของการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปยังส่วนราชการ

เห็นชอบ  (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด

เนื่องจากเดิมไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา จึงเห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลหรือสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและรองศึกษาธิการจังหวัด

โดยการคัดเลือกดังกล่าวกำหนดให้มี  4  องค์ประกอบ  คือ

1)  การคัดกรอง  (Screening) 
2)  การคัดเลือก (Selection)
3)  การพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง (Development)
4)  การประเมินสัมฤทธิผลการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา (Probation)

ในส่วนของการคัดเลือก ควรพิจารณาถึงความสามารถในการบริหารทางการเงินด้วย โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. ให้ อ.ก.ค.ศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกตามหลักสูตรการคัดเลือก             
2. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด
3. หลักสูตรการคัดเลือก แบ่งเป็น 3 ภาค คือ
ภาค ก ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ การวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
ภาค ข ความสามารถทางการบริหารงาน (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
4. เกณฑ์การตัดสิน ต้องได้คะแนนภาค ก และ ภาค ข ไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบ และรวมทั้ง 2 ภาค ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ และภาค ค ไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ รวมทั้ง 3 ภาค ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบ
5. การขึ้นบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือก มีอายุ 2 ปี              
6. ผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ต้องได้รับการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด

เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา

จากการที่ ก.ค.ศ. ได้ยกเว้นให้ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ตาม ว 8/2562 ไม่ต้องผ่านการพัฒนาฯ ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา นั้น

ก.ค.ศ.พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา เป็นผู้มีความรู้ ทักษะ เจตนคติที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพที่เหมาะสม อันจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดความก้าวหน้าแก่ราชการ

จึงกำหนดให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ขึ้น โดยให้มีการพัฒนาฯ ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา รวมเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกัน และให้ใช้กับทุกส่วนราชการ

โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ให้มีระยะเวลาการพัฒนาตามขอบข่ายการพัฒนาไม่น้อยกว่า 120 ชม. ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และไม่น้อยกว่า 150 ชม. ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา                  
2. ขอบข่ายการพัฒนา ประกอบด้วย                           
1) การนำความรู้ หลักการบริหารการศึกษา กฎหมาย ฯลฯ
2) การเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีเจตคติที่ดี วินัย คุณธรรม ฯลฯ
   3) การปฏิบัติงานตามหน้าที่ทางวิชาการ ฯลฯ
4) การบริหารจัดการตามภารกิจของสถานศึกษา
5) การใช้ภาษาไทย อังกฤษ ดิจิทัล
6) นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
3. กำหนดให้มีวิธีการพัฒนาที่หลากหลาย โดยการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ตามสภาพจริง ฯลฯ
4. เกณฑ์การตัดสิน ให้มีระยะเวลาเข้ารับการพัฒนาไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และเกณฑ์การประเมินผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
5. ให้ส่วนราชการจัดทำรายละเอียดการพัฒนาให้เหมาะสมกับตำแหน่ง และกำหนดองค์ประกอบ ตัวชี้วัด และรายละเอียดการประเมิน ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการพัฒนาแล้วให้รายงานผลการพัฒนาให้ ก.ค.ศ. ทราบ

เห็นชอบการปรับปรุงแนวปฏิบัติการรับรองคุณวุฒิเพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับคุณวุฒิในประเทศ

เนื่องจากแนวปฏิบัติการรับรองคุณวุฒิในประเทศ ตาม ว 31/2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้คำขอรับรองคุณวุฒิมาจาก 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และสถาบันการศึกษาโดยตรง ทำให้การขอรับรองคุณวุฒิในบางคุณวุฒิมีความซ้ำซ้อน หรือบางคุณวุฒิไม่สอดคล้องกับการนำไปใช้เพื่อการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก.ค.ศ. จึงมิได้กำหนดอัตราเงินเดือนแรกบรรจุไว้ และเดิมการรับรองวุฒิต้องไม่ก่อนวันที่ ก.ค.ศ. รับเรื่อง จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้การรับรองวุฒิมีประสิทธิภาพ คล่องตัว ตรงกับความต้องการของสถาบันการศึกษามากยิ่งขึ้น และเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้จัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับรองคุณวุฒิฯ สำหรับคุณวุฒิในประเทศ ใหม่

โดยสาระสำคัญ สรุปดังนี้

1. คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง ต้องเป็นคุณวุฒิที่เป็นประโยชน์ สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอน การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน หรือการปฏิบัติงานในหน่วยงานการศึกษาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
2. ให้สถาบันการศึกษาที่ประสงค์จะเสนอขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณารับรองคุณวุฒิ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานไปยังสำนักงาน ก.ค.ศ. เพียงช่องทางเดียว โดยกำหนดแนวทางดำเนินการที่ครอบคลุมทั้งกรณีสถาบันการศึกษาที่เสนอให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ Office of Commission of Higher Education Curriculum Online (CHECO) และกรณีที่เสนอพิจารณาความสอดคล้องของหลักสูตรฯ ในรูปแบบเอกสาร
3. การรับรองคุณวุฒิจะมีผลการรับรองไม่ก่อนวันที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษาได้ตรวจสอบความสอดคล้องของหลักสูตรระดับอุดมศึกษาแล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะนำคุณวุฒิไปใช้มากยิ่งขึ้น              
4. กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับคุณวุฒิที่ทบวง มหาวิทยาลัย (เดิม) หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เดิม) ได้รับทราบการให้ความเห็นชอบหลักสูตร โดยให้ส่งคำขอรับรองคุณวุฒิถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศใช้แนวปฏิบัติฯ ใหม่ และให้มีผลการรับรองคุณวุฒิไม่ก่อนวันที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับเรื่องและเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับการพิจารณาคำขอรับรองคุณวุฒิ (เดิม)

เห็นชอบการขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

เนื่องจาก สพฐ. ขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่าง เนื่องจาก คปร. ไม่ได้ให้คืนตำแหน่งให้กับสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการ

ในการนี้ จึงพิจารณาเห็นว่า สพฐ. ประสบปัญหาขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน น้อยกว่า 120 คนลงมา ในพื้นที่ปกติที่ไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนอื่นได้ เป็นโรงเรียน Stand Alone ที่จำเป็นจะต้องคงอยู่ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และได้รับการสนับสนุนทรัพยากรจากชุมชน ประกอบกับโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือมีบริบทที่ยังไม่เอื้อต่อการควบรวมสถานศึกษา ซึ่งการดำเนินการต้องอาศัยระยะเวลาและปัจจัยที่หลากหลาย

จึงเห็นควรขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างฯ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา ที่ตั้งในพื้นที่ปกติ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 556 แห่ง รวม 556 อัตรา และให้เสนอไปยัง คปร.เพื่อพิจารณาต่อไป

เห็นชอบการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ด้วยการจ้างรูปแบบอื่น

ที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 – 2565) ที่กำหนดให้ ก.ค.ศ. เป็นผู้พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ว่าด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นในอัตราร้อยละ 10 ของอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการฯ ของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา38 ค. (2) ทั้งหมดของส่วนราชการระดับกรม

โดยสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ตรวจสอบการกำหนดชื่อตำแหน่งพนักงานราชการ กลุ่มงาน และอัตราค่าตอบแทนของกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเพิ่มเติม ตามที่ส่วนราชการเสนอมาแล้ว เห็นว่า เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) เรื่อง การกำหนดลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงาน และการจัดทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ พ.ศ. 2554 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555

จึงเห็นชอบการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ด้วยการว่าจ้างรูปแบบอื่นให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 7 อัตรา (สป. เดิม 6 อัตรา และ สนง. กศน. 1 อัตรา) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 1 อัตรา

เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนในกรณีที่ได้รับคุณวุฒิเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้น ตามคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง

สืบเนื่องจากที่ ก.ค.ศ. ได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนในกรณีที่ได้รับคุณวุฒิเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้น ตามคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรอง ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.7/ว 25 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2559 นั้น

โดยหลักเกณฑ์และวิธีการฯ นี้ กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือนในกรณีที่ได้รับคุณวุฒิเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิในสาขาวิชาเดียวกันกับคุณวุฒิระดับปริญญาตรี และหรือปริญญาโทที่ใช้ในการบรรจุและแต่งตั้ง หรือเป็นคุณวุฒิที่ตรงกับสาขาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ผู้นั้นทำการสอนหรือเคยทำการสอน หรือเป็นคุณวุฒิที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน ทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ให้เป็นไปตามที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ.

ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ โดยส่วนราชการได้เสนอให้ ก.ค.ศ. พิจารณารับรองวุฒิที่ ก.ค.ศ. ไม่ได้รับรอง เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยในการพิจารณามีกระบวนการและต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เกิดความล่าช้า

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในทางปฏิบัติ และเป็นการกระจายอำนาจให้ส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาตามความเหมาะสมและตามบริบทของแต่ละสถานศึกษา และให้ส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการกำหนดคุณวุฒิที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ เนื่องจากส่วนราชการจะทราบว่า แต่ละระดับการศึกษา จะมีหลักสูตรใดบ้างที่มีความเหมาะสม

ข่าว : ศรายุทธ  มาทัพ หัวหน้ากลุ่มประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ สำนักงาน ก.ค.ศ.

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button