การดำเนินการของ สทศ.สพฐ.ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อโคโรน่า2019 (COVID-19)
การดำเนินการของ สทศ.สพฐ.ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อโคโรน่า2019 (COVID-19)
1. จัดทำแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผลร่วมกับสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อฯ ให้หน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานระดับพื้นที่ และสถานศึกษานำไปใช้ในการบริหารจัดการ (อ้างอิงหนังสือ สพฐ.ด่วนที่สุด ที่ ศธ.04011/ว.661 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2564) ดังนี้
1.1 การวัดและประเมินผลระหว่างภาคเรียนและปลายภาค/ปลายปี ให้สถานศึกษามีความยืดหยุ่นทั้งในส่วนของรูปแบบวิธีการวัดและประเมินผล และเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผล โดยเลือกรูปแบบวิธีการที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนการสอนที่สถานศึกษาจัดขึ้น
1.2 การตัดสินการเลื่อนชั้นของผู้เรียน อนุโลมให้ผู้เรียนที่มีเวลาเรียนไม่ครบ 80% แต่มีผลการประเมินการเรียนรู้เป็นไปตามเกณฑ์มีสิทธิ์สอบและเลื่อนชั้นได้ โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการประชุมครั้งที่ 8/2564 วันที่ 13 สิงหาคม 2564 (โดยเกณฑ์การตัดสินผลการเรียนเดิมในระดับประถมศึกษา คือ กำหนดให้ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนตลอดปีการศึกษา และในระดับมัธยมศึกษา คือ กำหนดให้ผู้เรียนมีเวลาเรียนตลอดภาคเรียน ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดในรายวิชานั้นๆ)
1.3 การบันทึกผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในแบบเอกสารหลักฐานการจบของผู้เรียน (ปพ.1) กำหนดให้สถานศึกษาไม่ต้องนำผล O-NET มาบันทึกในเอกสารหลักฐานดังกล่าว เพื่อความความกังวลและลดความเครียดของผู้เรียนและผู้ปกครอง
2. กำหนดให้การประเมินความสามารถด้านการอ่าน (RT) ชั้น ป.1 และการทดสอบความสามารถพื้นฐานด้านภาษาไทยและด้านคณิตศาสตร์ (NT) ชั้น ป.3 สามารถดำเนินการได้ตามความสมัครใจของผู้เรียน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะให้บริการต้นฉบับเครื่องมือประเมินให้สถานศึกษานำไปใช้ตามความสมัครใจ ในปีการศึกษา 2564
3. จัดทำเครื่องมือประเมินมาตรฐาน สาระและตัวชี้วัด ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ในระดับชั้นประถมศึกษา และชั้นมัธยมศึกษา ไว้บริการแก่สถานศึกษาที่ต้องการผ่านระบบคลังข้อสอบมาตรฐาน (SIBS)
4. ร่วมแสดงข้อคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะแก่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในปีการศึกษา 2564 โดยให้กำหนดตัวชี้วัดต้องรู้สำหรับใช้เป็นกรอบในการออกข้อสอบ เน้นข้อสอบวัดด้านการคิดของผู้เรียน และใช้ข้อสอบอัตนัยในการทดสอบ O-NET ชั้น ป.6 และ ม.3
5. สื่อสารสร้างความเข้าใจกับบุคลากรทางการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน และการประเมินระดับชาติในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ในหลายช่องทาง ได้แก่ การทำหนังสือชี้แจงไปยังหน่วยงานต่าง ๆ การประชุมชี้แจงผ่านระบบทางไกลและช่องทางออนไลน์ต่างๆ การประชาสัมพันธ์ผ่านเว็ปไซด์ เป็นต้น
6. พัฒนาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการประเมินสมรรถนะของผู้เรียนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการสร้างเครื่องมือประเมินตามกรอบการประเมินในระดับนานาชาติ (PISA) ให้แก่บุคลากรในระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
7. ประสานข้อมูลกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เกี่ยวกับการนำผลการทดสอบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีหนังสือที่ ทปอ.64/0396 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เรื่อง แจ้งการไม่ใช้ผลคะแนนการสอบรายวิชา O-NET ในระบบการคัดเลือกกลาง บุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป (TCAS65) ของผู้เรียนชั้น ม.6 สำหรับเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อลดความซ้ำซ้อนการประเมินและลดความเครียดของผู้เรียน
ทปอ.ยังคงใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (GPAX) ประกอบในการพิจารณา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงเป็นหน่วยงานกลางที่หลอมรวมผลการเรียนเฉลี่ยสะสม รอบ 5 และ 6 ภาคเรียน และนำข้อมูลส่งให้ ทปอ. ตามกำหนด
ขอบคุณข้อมูล facebook ผอ.สทศ.สพฐ.