ข่าวการศึกษา

นโยบายการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ของกระทรวงศึกษาธิการ

นโยบายการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ของกระทรวงศึกษาธิการ

นโยบายการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ของกระทรวงศึกษาธิการ

วันที่ 23 กันยายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมทางไกล (Video Conference) มอบนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย แก่ศึกษาธิการจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาทั่วประเทศ จากห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กทุกคนมีพัฒนาการที่ดีเหมาะสมกับวัย ทั้งทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา มีทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล สร้างให้เด็กมีคุณลักษณะมีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ ตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้สถานศึกษาและครู มีแนวปฏิบัติพื้นฐานนำไปใช้วางแนวทางในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมและสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ด้านการศึกษาการพัฒนาคุณภาพเด็กในช่วงปฐมวัย

โดยให้ยึดหลักการสำคัญ คือ การพัฒนาเด็กแบบองค์รวม (Holistic Development) ให้เด็กมีพัฒนา 4 ด้าน ประกอบด้วย ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา อย่างสมวัย รวมทั้งพัฒนาด้านตัวตน (Self Development) พัฒนาทักษะสมอง (Executive Function: EF) ให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กรู้สึกมีคุณค่า มีความเชื่อมั่น และภูมิใจในตนเอง และเป็นเด็กที่คิดเป็น มีเหตุมีผล และรู้จักกำกับตนเอง

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ สำหรับสถานศึกษาและครู

สถานศึกษา

ได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้ 6 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. เน้นเด็กเป็นสำคัญ โดยเปิดโอกาสให้เด็กฝึกใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การวางแผนลงมือทำ นำเสนอ และสะท้อนความคิดเห็น ฯลฯ โดยครูเป็นผู้สนับสนุนและร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงบริบทของตัวเด็กและสังคมที่เด็กอาศัย
  2. จัดประสบการณ์ หรือกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ ยืดหยุ่น สอดคล้องกับพัฒนาการหรือปรับเปลี่ยนตามความสนใจ สถานการณ์ บริบทหรือวิถีชีวิตจริงของเด็ก
  3. จัดหาหรือพัฒนาสื่อ วัสดุ และอุปกรณ์ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ ให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านการเล่นที่หลากหลาย ทั้งการเล่นอิสระ การเล่นร่วมกัน และการเล่นที่มีข้อตกลง
  4. จัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ เชิงบวก อบอุ่น ปลอดภัย เป็นมิตร มีอิสระและท้าทาย ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างเด็กกับเด็กและเด็กกับครู
  5. ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง รู้เท่าทันความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ การวิจัยและพัฒนาสื่อ รูปแบบ วิธีการหรือนวัตกรรมสำหรับการจัดการศึกษาปฐมวัย
  6. ประสานความร่วมมือและสร้างความรู้ความเข้าใจ ร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับพ่อแม่ ครอบครัว และชุมชน ในการดูแล พัฒนาและจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ครู

เนื่องจากการปรับรูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยครั้งนี้ ครูมีบทบาทสำคัญและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) จากครูผู้สอนปรับมาเป็นผู้ชี้แนะ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ผู้สังเกต ร่วมเรียนรู้ไปกับเด็ก และเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาและเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ

ดังนั้น แนวปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับครู ต้องเกิด “5 สิ่งที่มีอยู่จริง” ดังนี้

  1. ครูมีอยู่จริง “ครูคุณภาพ ครูเพื่อศิษย์” มีจิตวิญญาณความเป็นครู ต้องเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ มุ่งมั่น กล้าทำเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นที่พึ่งทางใจ มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก
  2. เด็กมีอยู่จริง “เด็กได้คิด วางแผน ทำ แก้ปัญหา ด้วยตนเอง และเป็นที่ยอมรับ” พ่อแม่และครูต้องส่งเสริมสร้างความมีตัวตนให้กับเด็กเคารพในความรู้สึกนึกคิดของเด็ก กระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้และตั้งเป้าหมายเอง ให้เด็กมีโอกาสตัดสินใจและเรียนรู้ผลจากการตัดสินใจ มีความภาคภูมิใจในตนเอง และส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน
  3. หลักสูตรมีอยู่จริง “ให้โอกาสการเรียนรู้และความสำเร็จแก่เด็ก” หลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัยต้องสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ช่วยให้เด็กมีความพร้อมพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้และมีทักษะชีวิต
  4. ครอบครัวมีอยู่จริง “ครอบครัวอบอุ่น ปลอดภัย มีส่วนร่วมพัฒนาเด็ก” เด็กปฐมวัยจะได้รับการพัฒนาจากครอบครัวเป็นลำดับแรก ดังนั้น การพัฒนาเด็กปฐมวัยครอบครัว และสถานศึกษาต้องร่วมมือใกล้ชิด สื่อสารเชิงบวกสร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาทักษะ แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์และให้กำลังใจกันและกัน
  5. เพื่อนร่วมงานมีอยู่จริง “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาร่วมพัฒนา ร่วมรับผิดชอบ” สร้างความร่วมมือทั้งภายในและนอกสถานศึกษาพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ ให้มีคุณภาพ ครูจะต้องทำงานร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยการพัฒนาจะเน้นที่เด็กเป็นสำคัญ

ดาวน์โหลดไฟล์นำเสนอ

ขอบคุณที่มา https://moe360.blog/2020/09/23/early-childhood/?fbclid=IwAR166IAx_ADyVli6BFaV0lQWiMCyx77rdfyErixVX_kdZHL7eiDS9aOCvxc

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button