ประโยคในภาษาไทย
ประโยคในภาษาไทย
ประโยคในภาษาไทย
สวัสดีค่ะวันนี้ เพจแชร์สื่อการสอนฟรี ดอทคอม ได้สรุปเนื้อหาวิชาภาษาไทย เรื่องประโยคในภาษาไทย มาฝากกันนะคะเพื่อง่ายต่อการเรียนการสอนหรือไว้ใช้ในการอ่านหนังสือสอบสำหรับคนที่มีเวลาอ่านไม่มากไว้ทบทวนกันนะคะ
ความหมายของประโยค
ประโยค คือ คำ หรือกลุ่มคำที่นำมาเรียงกันแล้วสามารถสื่อความหมายได้สมบูรณ์ทำให้รู้ว่าใครทำอะไร
รูปประโยค
ประโยคที่ใช้ในการสื่อสารมีหลายชนิด ต้องเลือกใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ดังนี้
๑) ประโยคบอกเล่า คือ ประโยคที่มีใจความเพื่อบอกให้ทราบว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เป็นการแจ้งเรื่องราวให้ทราบ หรือบอกเหตุการณ์ต่างๆ เช่น แม่ของฉันเป็นชาวนา
๒) ประโยคปฏิเสธ คือ เป็นประโยคที่มีใจความไม่ตอบรับ ตรงกันข้ามกับประโยคบอกเล่าแสดงให้ทราบว่าประธานของประโยคปฏิเสธ มักมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ ไม่ใช่ ประกอบในประโยค เช่น ฉันไม่ได้ทำแก้วแตก
๓) ประโยคคำถาม คือ ประโยคที่มีใจความเป็นคำถามเพื่อต้องการคำตอบ คำที่เป็นคำถามจะอยู่ต้นหรือท้ายประโยคก็ได้ มักมีคำที่แสดงคำถามว่า ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไร ทำไม เช่น รถคันนี้ของใคร
๔) ประโยคขอร้อง คือ ประโยคที่มีข้อความแสดงความต้องการให้ช่วยเหลือในลักษณะต่างๆมักจะมีคำว่า โปรด กรุณา ช่วย วาน อยู่หน้าประโยค เช่น กรุณารักษาความสะอาด
๕) ประโยคคำสั่ง คือ ประโยคที่บอกให้ทำ หรือไม่ให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักจะละประธานไว้ เช่น ห้ามเดินลัดสนาม
๖) ประโยคแสดงความต้องการ คือ ประโยคที่แสดงความอยากได้ อยากมี อยากเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักมีคำว่า อยาก ต้องการ ประสงค์ อยู่ในประโยค เช่น ฉันอยากเป็นครู
ชนิดของประโยค
ประโยคแบ่งตามโครงสร้างได้ ๓ ชนิดดังนี้
๑. ประโยคสามัญ หรือประโยคความเดียว คือ ประโยคที่มีใจความเดียว มีความหมายอย่างเดียว เป็นประโยคที่ไม่มีคำเชื่อมกริยาหรือประโยค (จำพวกคำว่า และ, แต่, หรือ) และไม่มีอนุประโยค คือ ประโยคที่ขึ้นต้นคำเชื่อมอนุประโยค เช่น ที่, ว่า, ให้, ซึ้ง, อัน, ถ้า, เพราะ, เมื่อ, ฯลฯ
เช่น นกบิน
ฉันซื้อขนม
ฉันไปเดินตลาด
ฉันกับแม่ไปเดินตลาด
๒.ประโยคความรวม คือ ประโยค ๒ ประโยคขึ้นไปมารวมกันโดยมีคำสันธานเป็นคำเชื่อม โดยมีคำเชื่อม และ,แต่,หรือ,ฯ
ประโยครวมมี ๔ ชนิดดังนี้
๑) ประโยคความรวมที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน มักใช้สันธาน และ, ทั้ง…..และ เป็นคำเชื่อม นอกจากนี้ยังสามารถใช้สันธานที่แสดงลำดับการกระทำก่อนหลังได้ด้วย เช่น พอ…ก็, แล้ว….ก็ ตัวอย่าง ฉันและแม่ชอบทำอาหาร
๒) ประโยคความรวมที่มีเนื้อความขัดแย้งกัน มักใช้สันธาน แต่, แต่ว่า, แม้….ก็ เป็นคำเชื่อมตัวอย่าง ฉันจะกินขนมแต่น้องจะดูโทรทัศน์
๓) ประโยคความรวมที่มีเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง มักใช้สันธาน หรือ, หรือไม่ก็, ไม่…..ก็ เป็นคำเชื่อม ตัวอย่าง เธอจะกินชาหรือกาแฟ
๔)ประโยคความรวมที่มีเนื้อความเป็นเหตุเป็นผลกัน มักใช้สันธาน จึง, จึง……เพราะ, เพราะฉะนั้น…..จึง เป็นคำเชื่อม ตัวอย่าง เพราะเขาเป็นคนดี ฉันจึงรักเขา
๓.ประโยคความซ้อน หรือประโยคซ้อน คือ ประโยคที่มีอนุประโยคซ้อนอยู่ในประโยคหลัก ประโยคหลัก เรียกว่า มุขยประโยค ประโยคย่อย เรียกว่า อนุประโยค ข้อสังเกตมักมีคำเชื่อมคำว่า “ที่ ซึ้ง อัน ว่า”
ตัวอย่าง คนไม่ทำงานเป็นคนขี้เกียจ
ประโยคหลัก(มุขยประโยค) : คนขี้เกียจ
ประโยคย่อย(อนุประโยค) : คนไม่ทำงาน
เมื่อนำประโยคย่อยไปแทรกก็แทนกรรมของประโยคย่อยด้วยคำว่า เป็น
ตัวอย่าง ฉันไม่ชอบคนเอาเปรียบผู้อื่น
ประโยคหลัก(มุขยประโยค) : ฉันไม่ชอบคน
ประโยคย่อย(อนุประโยค) : คนเอาเปรียบผู้อื่น
ที่มา: หลักภาษาไทย รองศาสตราจารย์วิเชียร เกษประทุม หลักภาษาและการใช้ภาษาไทย สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)