ข่าวการศึกษา

เสมา 1 ‘เพิ่มพูน’ ห่วงสุขภาพนักเรียน-ครู กำชับสถานศึกษารับมือ PM2.5 เข้มสวมหน้ากากอนามัย งดกิจกรรมกลางแจ้ง

เสมา 1 ‘เพิ่มพูน’ ห่วงสุขภาพนักเรียน-ครู กำชับสถานศึกษารับมือ PM2.5 เข้มสวมหน้ากากอนามัย งดกิจกรรมกลางแจ้ง

เสมา 1 ‘เพิ่มพูน’ ห่วงสุขภาพนักเรียน-ครู กำชับสถานศึกษารับมือ PM2.5 เข้มสวมหน้ากากอนามัย งดกิจกรรมกลางแจ้ง

เสมา 1 ‘เพิ่มพูน’ ห่วงสุขภาพนักเรียน-ครู กำชับสถานศึกษารับมือ PM2.5 เข้มสวมหน้ากากอนามัย งดกิจกรรมกลางแจ้ง

30 มกราคม 2567/ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีความห่วงใยต่อสุขภาพอนามัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากข้อมูลของศูนย์สื่อสารการแก้ไขคุณภาพอากาศ (ศกพ.) แจ้งว่าอัตราการระบายอากาศใน กทม. มีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ จึงทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 สูงขึ้นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกหนังสือกำชับ มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยเน้นย้ำให้ถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด

“ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่ง ศธ.ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด และเข้าใจถึงความห่วงใยของผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกหลานทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เข้าแถว เล่นกีฬาในพื้นที่เปิดโล่ง เพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากพิษภัยของฝุ่นละออง PM2.5 ให้ได้มากที่สุด วันนี้จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ศธ. เตรียมความพร้อมในการรับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เช่น การสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร งดการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยสามารถพิจารณาปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสม” รมว.ศธ. กล่าว

ทั้งนี้ผลกระทบทางสุขภาพของฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน มีทั้งระยะสั้น เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้ง คันตามร่างกาย รวมถึงอาจมีอาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย ส่วนระยะยาว จะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะมีการรับสัมผัสเร็วกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นสถานศึกษาจึงต้องติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 อยู่เสมอ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย เพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมตามความต้องการของพื้นที่ได้ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการรายงานคุณภาพอากาศ การคาดการณ์คุณภาพอากาศ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4Thai

ที่มา :: สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 2

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button