บทความ

วิเคราะห์เนื้อหาเพื่อการผลิตสื่อการสอนอย่างไรให้น่าเรียน

การวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อการผลิตสื่อการสอน

สื่อการสอน เป็นตัวกลางระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผู้สอนแต่ละคนจะมีแนวคิดเป็นของตนเองว่าควรจะนำเสนอเนื้อหาอะไรลงในสื่อการสอน แต่ปัญหาที่ผู้เรียนมักประสบอยู่เสมอก็คือ การที่ต้องศึกษาจากสื่อใด ๆ ก็ตามที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระจนไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรคือสาระสำคัญ เช่น ภาพที่เต็มไปด้วยรายละเอียด แผ่นโปร่งใสหรือสไลด์ที่เต็มไปด้วยข้อความ และมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะรับรู้และเรียนรู้ในครั้งหนึ่งๆ การแก้ปัญหาเหล่านี้ทำได้ไม่ยากเลย ถ้าเพียงแต่ผู้สอนจะศึกษาเนื้อหาที่ตนจะสอนให้ดีแล้วคัดเลือกเฉพาะส่วนที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนดีขึ้น เมื่อคัดเลือกแล้วลองพิจารณาด้วยว่า ข้อความหรือภาพที่ตั้งใจจะใส่ลงในสื่อการสอนนั้นตนเองจะสามารถบรรยายให้ผู้เรียนเข้าใจได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ไม่จำเป็นต้องทำเป็นสื่อการสอน แต่ถ้าคิดว่าการบรรยายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอก็ให้วางแผนทำสื่อการสอนต่อไป

            ก่อนที่ผู้สอนจะวางแผนผลิตสื่อการสอน ต้องระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เสนอในสื่อการสอนอาจเป็นหัวเรื่องและหัวเรื่องย่อย ๆ  เพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพรวมทั้งหมดของเรื่องนั้น ๆ และเรียนรู้ไปทีละหัวเรื่องหรืออาจเป็นข้อความที่สำคัญ แต่ไม่ยาวจนเกินไปนัก  เพื่อให้ผู้เรียนได้รายละเอียดที่ถูกต้องครบถ้วนเหมือนกันทุกคน เช่น คำจำกัดความ หลักการ ทฤษฎี คำกล่าวต่าง ๆ เป็นต้น หรืออาจเป็นภาพประกอบที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องที่อธิบายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น       

            เนื้อหาวิชาหรือ Subject Content เป็นส่วนที่จะให้รายละเอียดหรือความรู้เกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ การที่จะคัดเลือก ตัดทอน หรือจัดลำดับของเนื้อหาเพื่อนำเสนอ ผู้สอนต้อง เข้าใจเนื้อหานั้นเป็นอย่างดี และต้องรู้ว่าการจัดลำดับเนื้อหาจะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไรบ้าง การศึกษาและการวิเคราะห์เนื้อหาที่จะนำมาเขียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

หลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการใช้สื่อการสอน

 1. การเตรียม

                   1.1  สำรวจอุปกรณ์ทุกชิ้นให้อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้

                   1.2  ทดลองใช้ให้คล่องแคล่ว

                   1.3  สำรวจและจัดเตรียมห้องเรียนสำหรับใช้อุปกรณ์ให้เกิดความคล่องตัว

 2.  การเลือก

                   2.1  เลือกสื่อให้เหมาะสมกับระดับวัย ระดับสติปัญญา และปลอดภัยในการใช้

                   2.2  เลือกขนาด สื่อต้องมีขนาดใหญ่พอสำหรับการสอนจริงในชั้นเรียนที่ใหญ่  ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงจำนวนผู้เรียนในชั้นจริงว่า ทุกคนในชั้นจะมองเห็นสื่อได้ชัดเจนหรือไม่

                   2.3  การใช้สื่อที่เคลื่อนไหวได้ จะช่วยเร้าความสนใจแก่ผู้เรียนได้ดีเป็นพิเศษ

                   2.4  ใช้สื่อในปริมาณที่พอเหมาะ  และตรงเป้าหมายกับเรื่องที่จะสอน

                   2.5  ใช้สื่อที่สัมพันธ์กับบทเรียน และตรงกับจุดมุ่งหมายของเรื่องที่จะสอน

 3.  การใช้

                   3.1  ใช้ตามลำดับก่อนหลังอย่างคล่องแคล่ว  และแสดงให้เห็นทั่วกันทั้งชั้นอย่างชัดเจน

การยกภาพให้ผู้เรียนดูควรยกให้สูงในระดับอกของผู้สอนและอยู่ข้างหน้าชั้นเรียน

                   3.2  สื่อขนาดใหญ่ต้องมีที่ตั้งหรือที่แขวนเพื่อให้เห็นชัดเจน

                   3.3  ใช้ไม้บรรทัดชี้สื่อ โดยผู้สอนยืนชิดไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ยืนบังสื่อเหล่านั้น

                   3.4  ในบางครั้งต้องเตรียมความพร้อมในการใช้สื่อของผู้เรียนไว้ล่วงหน้า จึงจะ  ทำให้ผู้เรียนทำตามจุดมุ่งหมายของผู้สอนได้

                   3.5  ควรใช้สื่อให้คุ้มค่ากับที่ได้เตรียมมา  กล่าวคือ  พยายามใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด เช่น ใช้แผนภูมิส่วนประกอบของต้นไม้ในขั้นสอนแล้ว อาจใช้แผนภูมินั้น ๆ ในขั้นสรุปบทเรียนอีกแต่ต้องมีวิธีใช้ต่างกันไปกับขั้นสอน  เป็นต้น

                   3.6  ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อ เช่น ให้อธิบายภาพ  สะกดและอ่านบัตรคำ เลือกภาพ จับคู่ เป็นต้น

                   3.7  ในโอกาสที่ต้องการแจกสื่อไปตามโต๊ะผู้เรียน  เช่น เทียนไข  ไม้ขีด  กระดาษ  ฯลฯ  ผู้สอนควรจะฝึกให้ผู้เรียนแจกกันเองได้  โดยผู้สอนให้ผู้เรียนหยิบส่วนของตนไว้  ที่เหลือส่งต่อไป

                   3.8  ในกรณีที่ต้องการให้ผู้เรียนมาใช้สื่อหน้าชั้น  ควรฝึกให้ผู้เรียนหันหน้า  เข้าหาชั้นเรียน และไม่ยืนบังตาของเพื่อนจากสื่อต่าง ๆ ที่ใช้ นอกจากนี้ควรกำชับถึงความปลอดภัย และความระมัดระวังเป็นพิเศษในด้านความเสียหาย

          4.  การติดตามผล  เป็นการติดตามผลของการใช้สื่อการสอน  เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนได้รับความรู้จากสื่อนั้นมากน้อยเพียงใด  มีข้อบกพร่องอย่างไร

ที่มา : https://www.sites.google.com

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button